ข่าวประชาสัมพันธ์
วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล 9 ธันวาคม 2565 / 2022 ร่วมกันต้านการทุจริต
- 2 ธันวาคม 2565
- อ่าน 2,047 ครั้ง
วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ภาษาอังกฤษ: International Anti-Corruption Day) 9 ธันวาคม ของทุกปี วันแห่งความตระหนักและร่วมกันต่อต้านการทุจริต
วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล
วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีถือเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ได้ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต 2003 (UNCAC) อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศ รวมทั้งไทยได้เข้าร่วม ลงนามในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2546 ณ ประเทศเม็กซิโก จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)
สำหรับ รัฐบาลไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กำหนดจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) วันที่ 9 ธันวาคม 2560 พร้อมกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นับเป็นมิติใหม่ในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระเร่งด่วนและให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการใช้กลไกประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบไปด้วยฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลไกทางศาสนาและการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ยั่งยืน ตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล
สำหรับการก่อตั้งวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักของผู้คนในเรื่องการทุจริต อันส่งผลกระทบต่อทั้งความมั่นคงของรัฐบาล เป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังทำลายรากฐานของประชาธิปไตย และสร้างความตระหนักในบทบาทของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตในการต่อสู้และป้องกัน
กิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล
การรณรงค์จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ภายใต้แนวคิด Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริตโดยเน้นว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องลุกขึ้นมีทำหน้าที่และปกป้องสิทธิของตนเองและประเทศชาติโดยไม่ทนต่อการทุจริต และมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และความพอเพียง พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อให้ประเทศไทยโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลคอรัปชั่น คือ
คอรัปชั่น คือ การทุจริตโดยใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่อำนาจและอิทธิพลที่ตยมีอยู่เพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น การเห็นแก่ญาติพี่น้อง กินสินบน ฉ้อราษฎร์บังหลวง การใช้ระบบอุปถัมภ์และความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ ที่ข้าราชการหรือบุคคลใดใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนความเป็นธรรม
คอรัปชั่น หมายถึง ความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฏหมายอาญา อันได้แก่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เกี่ยวกับความยุติธรรมและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งกล่าวง่าย ๆ คือ การกระทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรชอบได้ด้วยกฏหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เช่น
- การเบียดบังทรัพย์ของทางราชการเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต
- การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ
- การบอกว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน
สาเหตุของคอรัปชั่น
- คนในสังคมส่วนใหญ่นับถือความร่ำรวย ย่อมเป็นแรงจูงใจในการแสวงหาเงินทอง
- ค่านิยมแบบนิยมพวกพ้องและเครือญาติ ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์
- ระบบอุปถัมภ์หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง สร้างลูกน้องไว้ช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ
- ระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ขาดประสิทธิภาพ
- สภาพทางการเมืองที่มีการแข่งขันอย่างเข้มข้น เพื่อช่วงชิงตำแหน่งทางการเมืองและผลประโยชน์
ตัวอย่างการคอรัปชั่น
ตูนิเซีย จุดประกายครั้งแรกโดยพ่อค้าเร่ Mohamed Bouazizi เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2010 ที่ลุกขึ้นต่อต้านอภิสิทธิ์ชน แต่ได้รับการกระทำอย่างรุนแรงเหนือศีลธรรมgเป็นการตอบกลับ จนกระทั่งวันที่ 14 มกราคม 2011 การประท้วงต่อต้านของประชาชน ทำให้ประธานาธิบดี Zine El Abidine Ben Ali ผู้ปกครองตูนิเซีย (ตั้งแต่ปี 1987) ต้องก้าวลงจากตำแหน่งด้วยข้อหาการคอรัปชั่นและการใช้อำนาจกดขี่ประชาชน เหตุการณ์ดังกล่าวได้กระพือและเป็นจุดเริ่มต้นที่เรียกว่า การปฏิวัติจัสมิน (Jasmine Revolution) ก่อนจะขยายตัวกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า อาหรับสปริง (Arub Spring) ไปทั่วแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
ประเทศอียิปต์ ชาติที่มีมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่และยิ่งใหญ่ของโลก มีพีระมิดและสืบทอดอารยธรรมที่ล้ำค่าของอียิปต์ แต่ปัจจุบันมีฐานะเป็นแค่ประเทศยากจนติดอันดับโลก คำถามที่ว่า ทำไมประเทศอียิปต์ยากจน ? เหตุผลต่าง ๆ มีมากมาย แต่ในที่สุด เมื่อประชาชนอียิปต์รวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐบาลและขับไล่ผู้นำและกล่าว เป็นเสียงเดียวกันว่า ความยากจนของอียิปต์มาจากการเป็นรัฐที่คอรัปชั่น
คอรัปชั่นรัฐบาลประเทศบาห์เรน ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ด้วย การลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลในโลกอาหรับเริ่มมานับแต่ปี 2554 ประสบการณ์จากประเทศใกล้เคียงน่าจะทำให้การเมืองในโลกอาหรับดีขึ้นหรือปฎิรูปประเทศ แต่ผลสำรวจกลับพบว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นกลับแย่ลงกว่าเดิมในเกือบทุกประเทศ ทั้งที่ประเด็นนี้เคยเป็นเหตุผลหลักของการลุกฮือขับไล่รัฐบาลและผู้นำ
คอร์รัปชันในระบบราชการ
มีคำถามว่า “มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ” ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศใช้เมื่อ 27 มีนาคมที่ผ่าน ทำไมจึงใช้คำลงท้ายว่า “ในระบบราชการ” ซึ่งต่างไปจากเดิมที่ทางการมักใช้คำว่า การทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐหรือในหน่วยราชการ (Corruption in Public Sector) ที่มีความหมายกว้างๆ
การทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ น่าจะตรงกับคำว่า Bureaucratic Corruption หรือ “คอร์รัปชันในระบบราชการ” ซึ่งหมายถึง การคอร์รัปชันของข้าราชการที่ทำโดยอาศัยตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา อาจเป็นการลงมือทำโดยคนๆ เดียว ทำเป็นกลุ่มเล็กๆ เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่หรือบางกรณีก็เป็นการร่วมมือข้ามหน่วยงาน โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแม้ไม่มีนักการเมืองหรือคนในคณะรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องบงการ
รูปแบบคอร์รัปชัน มักเป็นการโกงกินจากงบประมาณ ค่าใช้จ่าย – ค่าดำเนินการ ยักยอกเบียดบังเอาทรัพย์สินเงินทองไปจากรัฐ ใช้อำนาจหน้าที่ไปเรียกรับผลประโยชน์จากบุคคลอื่นหรือปล่อยให้พวกพ้องได้ประโยชน์จากรัฐด้วยเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เช่น คดีเงินทอนวัด โกงเงินคนไร้ที่พึ่ง เงินแปะเจี๊ยะ ส่วยเทศกิจ ส่วยรถบรรทุก ตำรวจรีดไถ และการเรียกค่าอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตอนุมัติต่างๆ เป็นต้น
ความเสียหายจากคอร์รัปชันประเภทนี้มักไม่รุนแรงมาก เนื่องจากข้าราชการที่คอร์รัปชันมีขอบเขตอำนาจจำกัดตามตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานของตน เว้นแต่จะทำเป็นเครือข่ายหรือทำโดยข้าราชการระดับสูง ซึ่งต่างจากการคอร์รัปชันโดยนักการเมือง (Politic Corruption) ที่มีอำนาจและเครือข่ายกว้างขวาง จึงสามารถวางแผนกอบโกยผลประโยชน์ได้ครั้งละมากๆ จัดเป็นคอร์รัปชันขนาดใหญ่ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างกว้างขวางรุนแรง เช่น คดีจำนำข้าว คดีคลองด่าน คดีรถและเรือดับเพลิงของ กทม. โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น
แต่ก็มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ฉ้อโกงแล้วรวบรวมเงินส่วนแบ่งส่งให้นักการเมือง เพื่อแลกกับการยินยอมหรือปล่อยให้พวกตนโกงต่อไปได้ เพื่อการดูแลปกป้องหรือเพื่อผลในการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่ง เช่น กรณีโกงเงินคนไร้ที่พึ่ง ส่วยโรงพักและการขอใบอนุญาตตั้งโรงงานในอดีต เป็นต้น
ดังนั้นการใช้คำที่ต่างไปนี้ จึงมีข้อดีที่ช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่าง คอร์รัปชันประเภทหนึ่งที่กระทำโดยข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับอีกประเภทหนึ่งที่มีนักการเมืองเป็นผู้สั่งการ
ที่มา – nacc.go.th , islammore.com ,act.anticorruptionThailand